เสียงก้องกังวาน ในห้วงฤทัย

"ตลอดการเดินทางกว่า 6 ชั่วโมง ไม่มีแม้เวลาเพียงเศษเสี้ยววินาที 
ที่ใบหน้าของเขาเว้นว่างจากสายน้ำแห่งความโศกาที่หลั่งไหลจากนัยน์ตาทั้งสองข้าง"

เสียงฟ้าร้องก้องกังวาน ของค่ำวันที่ 3 มีนาคม 2563  ประหนึ่งดั่งระฆังย้ำเตือนให้ย้อนระลึกความทรนงผนวกความอ้างว้างอย่างโด่ดเดี่ยวของชายชราผู้จากไป ฝากเลือดเนื้อเชื้อไขไว้ในแผ่นดิน ไม่มีเสียงบ่น เหนื่อยในการสร้างชีวิตคน และคงนั่งเฝ้ารอใครลูกชายผู้เป็นแก้วตาดวงใจได้กลับมาเยี่ยมผู้เป็นพ่อบ้าง
--------------------------------------


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว...
บัณฑิตผู้หนึ่งกำลังเดินเพลิดเพลินกับสหายเพื่อนร่วมรุ่น ณ มหานครหลวงแห่งล้านนา...
3 มีนาคม 2544 จำได้ดี บัณฑิตผู้หลงในความงามในรูป รส กลิ่น เสียง และแสงสี แห่งเมืองกรุงอาณาจักรหัวเมืองฝ่ายเหนืออันรุ่งโรจน์
มีสรรพสิ่งมากมาย เจริญหูเจริญตา บัณฑิตผู้นี้ใช้ชีวิตในมหานครแห่งนี้ตั้งแต่วัยเยาว์จากความหวังอันเปี่ยมล้นของปิตุผู้ให้กำเนิดที่มุ่งหวังให้บุตรได้รับการศึกษาที่ดีงามมีความเจริญงอกงามในชีวิต
เด็กน้อยผู้นั้นไม่ทราบหรอกว่า...การศึกษาคืออะไร พ่อให้เรียนก็เรียนไป ตั้งแต่ระดับประถมฯ ถึง อุดมศึกษา ได้ชื่อว่า เป็นบัณฑิต สมดังใจท่าน
“...ชีวิตลูก มีบันได 3 ขั้น ที่พ่ออยากเห็น ขั้นที่ 1 พ่ออยากเห็นลูกของพ่อได้รับปริญญาตรี. ขั้นที่ 2 พ่ออยากให้ลูกเรียนปริญญาโท และบันไดขั้นที่ 3 คือ พ่ออยากเห็นลูกเรียนจนจบปริญญาเอก...”
คือคำกล่าวของชายชรา ชาวนาคนหนึ่งที่ได้พูดกับบุตรชาย ทุกๆ ครั้งที่ได้พบหน้ากัน
เด็กชายผู้นั้นไม่มีหน้าที่อะไรเลยนอกจาก เรียน เรียน แล้วก็เรียน
ครั้นเมื่อเรียนจบปริญญาตรี ผู้เป็นพ่อก็ได้กล่าวกับเขาอีก “... จำได้ไหมที่พ่อเคยบอก ตอนที่ลูกยังเล็กๆ ที่พ่อบอกว่าอยากให้ลูกรับราชการ อยากให้ลูกเป็นครู ... วันนี้เจ้าสำเร็จปริญญาแล้ว...” ในมือพ่อกอดปริญญาบัตรไว้แน่นแนบหน้าอก หลังพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร จากมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาคแห่งแรกของประเทศไทย. ระหว่างที่เราเดินเท้าตามเส้นจากหอประชุมใหญ่ไปตามถนนนิมมานฯ เพื่อกลับไปพักที่บ้านญาติ “ลุงทอง” ซึ่งมีบ้านติดอยู่กับรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ไกลจากหอประชุมใหญ่
ไม่นานนักทางราชการมีหนังสือ (จดหมาย) ถึงบ้านให้ไปรายงานตัวรับราชการครู ณ จังหวัดเมืองสามหมอก ก่อนเดินทางพ่อกล่าวย้ำอีก “...อย่าลืมเรียนต่อปริญญาโทนะลูก...” บัณฑิตแห่งมหาวิทยาลัยลูกช้างยกมือก้มกราบลา พร้อมเอ่ยตอบรับไปว่า “...ครับพ่อ...”
“....อาจารย์ครับผมอยากเรียนต่อปริญญาโท...”
อาจารย์ 1 ระดับ 3 คนนั้นกลับมาเยี่ยมอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชิงดอย อาจารย์ที่ปรึกษา ไม่ได้กล่าวห้ามใดๆ เพียงพูดว่า “...ครูดีใจที่เห็นเราได้เป็นครูรับราชการสมใจ และรับใช้บ้านเมือง การเรียนเป็นสิ่งที่ดี เอาสิ มาสอบดู ได้ไม่ได้เดี๋ยวค่อยว่ากัน... ว่าแต่เธอจะเรียนสาขาอะไรหละ...”
“...ประถมศึกษา ครับอาจารย์...”.
“...ทำไมถึงอยากเรียนสาขานี้...” อาจารย์ถาม
“...ผมบรรจุเป็นครูประถมครับอาจารย์ ผมไม่มีความรู้ด้านประถมศึกษาเลยครับ จะได้นำความรู้ไปพัฒนางาน และนำไปใช้สอนเด็กๆที่ผมสอนอยู่ครับ...”
“...ก็ดี สาขานี้ รศ. ..... ท่านเป็นประธานสาขาอยู่ ไปสอบดูนะ... โชคดีหละ...”
อาจารย์ 1 ระดับ 3 ผู้นั้น ทำตามคำแนะนำของท่านอาจารย์ที่ปรึกษาครั้งเมื่อเรียนปริญญาตรี หนังสือรับรองต่างๆ ที่เป็นส่วนของการสมัครสอบเข้าเรียน อาจารย์ 1 ระดับ 3 คนนั้น ได้รับความเมตตา จากอาจารย์ที่ปรึกษา บรรจงเขียนคำรับรอง ปิดผนึกลับ ส่งถึงกรรมการรับสมัคร และอาจารย์ประจำสาขา โดยไม่ลังเล
การเรียนปริญญาโท ในปี 2542 ของเขาไม่ได้สะดวกสบาย เหมือนนักศึกษาท่านอื่น เพราะเขาจะต้องเดินทางทุกวันศุกร์ จากยอดดอยสูงแห่งเมืองสามหมอก ฝ่าภูผา ลำห้วย ป่าเขา ลำเนาไพร ด้วยจักรยานยนต์ ความมืดมิด และแสนเปลี่ยว และความกันดารของพื้นที่ กว่าเขาจะเดินทางมาถึงหอพัก ณ มหานครแห่งล้านนาก็เวลาเที่ยงคืนถึงตีหนึ่งทุกสัปดาห์
เมื่อถึงที่พัก ก็หาได้หยุดพักนอนหลับ เขาต้องรีบบรรจงอาบน้ำให้สดชื่น ดื่มกาแฟสำเร็จรูปให้หูตาสว่าง แล้วเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อพิมพ์รายงาน ส่งอาจารย์ตลอดสองปีครึ่งที่เขาเรียนปริญญาโท ณ สถาบันร่มแดนช้าง แห่งนี้
วันที่เศร้าสลดก็ใกล้เข้ามาถึงเมื่อ พ่อ ได้กล่าวเอ๋ยถามว่า “...จบหรือยังปริญญาโท...” เมื่อต้นปีของ ปี 2544 นั้นเอง
“... จบแล้วครับพ่อ รอเพียงมหาวิทยาลัยอนุมัติปริญญาบัตรเท่านั้นครับ...” พร้อมกับยื่นวิทยานิพนธ์ที่บรรจงเขียนผ่านกระบวนการวิจัยเชิงทดลอง ให้พ่อได้ชื่นใจ
“การสอนซ่อมเสริมเรื่องการหารสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของโรงเรียน........” (ท่านสามารถหาอ่านได้ในอินเตอร์เน็ต แม้เวลาจะผ่านไปกว่า ยี่สิบปีแล้ว งานวิจัยเรื่องแรกของ มหาบัณฑิต คนดังกล่าวยังมีการเผยแพร่บนโลกออนไลน์ถึงปัจจุบัน)
วันที่ 3 มีนาคม 2544 ว่าที่มหาบัณฑิต เดินทอดเท้าชื่นชมสิ่งผลิตสิ้นค้าอันตระการตา ณ ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์ กับ สหายเพื่อนร่วมรุ่นเมื่อครั้งเรียนปริญญาตรี
...ติ๊ดๆ ติ๊ดๆ ติ๊ดๆ ... เสียงเครื่องมือสื่อสารที่เขาเหน็บไว้ที่เอวดังขึ้น (คน generation ปัจจุบัน
อาจไม่รู้จักเครื่องมือสื่อสารชนิดนี้) 
เขากดรับข้อความบนเพจเจอร์ของเขา พบข้อความสั้นๆ ที่เขียนว่า
“พ่อตาย ติดต่อกลับบ้านด่วน”
เขาโมโหมาก พร้อมหันกลับไปคุยกับสหายที่เดินเคียงคู่ว่า. “...ใครกันเล่นอะไรไม่เข้าเรื่อง มึงดูสิ ส่งข้อความอย่างนี้มาได้อย่างไร...”
เพื่อนปลอบใจ. “...เพื่อนเขาอาจจะล้อเล่นนะ...ไม่เป็นไรหรอก...”
กระนั้นก็ตาม ข้อความซ้ำๆ ส่งมาอีกอย่างต่อเนื่อง
“พ่อตายแล้ว กลับบ้านด่วน”
“...สันติกรณ์. กูว่า ก็ต้องโทรศัพท์เช็คข่าวแล้วมึง มึงมีตังค์เหรียญเปล่า ...”
“....มีสิ นี่ไง...”
สองคนรีบวิ่งไปยังตู้โทรศัทพ์สาธารณะ และโทรกลับไปยังบ้านผู้ใหญ่บ้าน (สมัยนั้นทั้งหมู่บ้านมีเพียงบ้านผู้ใหญ่บ้านที่มีโทรศัพท์บ้าน) เพื่อตรวจสอบข่าว
“...ฮัลโล.. บ้านพ่อหลวง........ใช่ไหมครับ....”
“...ใช่ไอ้น้อย เหรอ ....ลุงน้าว เสียแล้วจริงๆ รีบกลับบ้านเถอะ....”
ไม่ทันวางหูโทรศัพท์ หยาดน้ำตาไหลอาบแก้ม พร้อมทรุดลงกลางห้าง ไร้เรี่ยวแรง น้ำตายิ่งกว่าสายฝนพายุโหมกระหน่ำดั่งยามสงกรานต์แห่งคิมหันต์อันเร้าร้อนโบกพัดกิ่งก้านแห่งพันธุ์พฤกษาให้อันตธานหายไปกับสายลม
“...ปะกลับบ้านกัน เดี๋ยวกูขับรถให้...” เพื่อนปลอบพร้อมๆ กับประครองให้ลุกขึ้นจากพื้น
สองชีวิตขี่มอร์เตอร์ไซ จากมหาครเชียงใหม่สู่มหาอาณาจักรโยนกนาคพันธ์ ตลอดการเดินทางกว่า 6 ชั่วโมง ไม่มีแม้เวลาเพียงเศษเสี้ยววินาที ที่ใบหน้าของเขาเว้นว่างจากสายน้ำแห่งความโศกาที่หลั่งไหลจากนัยน์ตาทั้งสองข้าง
เที่ยงคืนเศษแล้วเขาก็มาถึง สิ่งที่เขาเห็นคือ เต้นท์ที่ตั้งเต็มลานบ้าน ญาติๆที่มาจากเมืองหริภุญชัย และเพื่อนบ้านพร้อมหน้ากันอยู่ทั้งลานดิน และบนเรือน เขารีบวิ่งขึ้นไปบนบ้าน และแล้วสิ่งที่เขาเห็น คือ “กล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า” บรรจุร่างอันไร้วิญญาณและลมหายใจของผู้เป็นบิดา มีรูปถ่ายวางไว้หน้ากล่อง และปักธูปก้านใหญ่ไว้ข้างโลง...

3 มีนาคม 2544 วันที่ลูกกลับบ้าน  

แม้วันนี้จะผ่านไปแล้วเกือบ 20 ปี ความรักของปิตุยังก้องกังวาน ในห้วงฤทัย ของลูกไม่ว่างเว้น และคงสานปณิธานความฝันของพ่ออยู่ทุกชั่ววัน

"รักและคิดถึงพ่อเสมอ"
บัณฑิตหนุ่มผู้ปฏิบัติหน้าที่เพียงเศษผงธุลีในการรับใช้งานแผ่นดิน

ความคิดเห็น

  1. According to Stanford Medical, It's in fact the one and ONLY reason this country's women live 10 years more and weigh an average of 19 kilos less than us.

    (And really, it has totally NOTHING to do with genetics or some hard exercise and EVERYTHING related to "HOW" they eat.)

    BTW, I said "HOW", and not "WHAT"...

    Click this link to determine if this easy questionnaire can help you discover your real weight loss possibilities

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

"ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง"

เส้นทางสายผ้าเหลือง