"ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง"

เต้ง...เต้ง...เต้ง...เต้ง ๆ ๆ ๆ....
บรู้ว...บรู้ว...บรู้ว...บรู้ว...ๆ ๆ ๆ
เสียงตีระฆังในตอนรุ่งสางช่วงสี่นาฬิกากว่า ๆ ที่สามเณรติ๊บตั้งใจตีอย่างบรรจง ผสมกับเสียงเห่าหอนของเจ้าสี่ขาในวัดยาวนานเกือบ 5 นาที ก้องกังวาลไปไกลทั่วหมู่บ้าน ท่ามกลางสายฝนที่ตกโปรยปราย ตลอดในช่วงฤดูกาลเข้าพรรษา

แม้ว่าจะมีหยาดน้ำจากฟ้าร่วงหล่นลงมาในทุก ๆ วัน แต่การปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์องคเจ้า หาใช่ว่าจะต้องหยุด ยังคงดำเนินหน้าที่กันต่อไป ตั้งแต่การทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น สวดมนต์โปรดศรัทธาญาติโยมที่นำข้าวปลาอาหารมาถวาย ทำความสะอาดศาสนสถานต่าง ๆ และดูแลวัตถุทรัพย์สินภายในวัดวาอารามอยู่เป็นนิจ

นอกจากนี้พระภิกษุ สามเณรทุกรูปต้องได้รับการศึกษาเฉกเช่นเดียวกับฆารวาสหรือชาวบ้านทั่วไป ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือการสวดมนต์ทั้งไทยและบาลี เรียนรู้ภาษาล้านนา การเทศนาธรรม รู้จักศาสนพิธี ตลอดจนศึกษาพระวินัย พระธรรมคำสอนต่าง ๆ ซึ่งเรียกการเรียนรู้นี้ว่า "ทางธรรม" เป็นสิ่งที่พระทุกรูปตั้งแต่พระรุ่นเก่ารวมทั้งสามเณรบวชใหม่อย่างสามเณรมนตรีและสามเณรติ๊บต้องศึกษาให้แตกฉาน เพื่อนำวิชาความรู้เหล่านี้ปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ทั้งประเภทงานมงคล เช่น ขึ้นบ้านใหม่ งานบวช งานฉลองต่าง ๆ รวมทั้งงานประเภทอวมงคล เช่น งานศพ งานสวดถอนต่าง ๆ ร่วมกับตุ๊ลุง(หลวงลุง)เจ้าอาวาส ตุ๊ปี้(หลวงพี่)และสามเณรรูปอื่น ๆ

ส่วนการศึกษาอีกประเภทหนึ่งคือการศึกษา "ทางโลก" ซึ่งมีความเหมือนกับการศึกษาในระบบได้เรียนในวิชาสามัญทั่วไปคือ วิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษ คอมพิวเตอร์ ดนตรีและสุขศึกษาพลศึกษา โดยสอดแทรกเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาเข้าไปด้วย คือวิชาภาษาบาลีและวิชาศาสนปฏิบัติ ส่วนข้อแตกต่างก็มีบ้าง เช่น ในรายของวิชาดนตรีและสุขศึกษาพลศึกษาซึ่งเป็นวิชาที่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับศีลธรรมจะไม่เรียนในภาคปฏิบัติ แต่จะเรียนในภาคทฤษฎีตามหนังสือเพียงเท่านั้น

เวลาเรียนในภาคเรียนจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วงเวลา คือช่วงที่ไม่ได้อยู่ในเวลาเข้าพรรษาจะเรียนตามปกติคือตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์หยุดวันเสาร์ วันอาทิตย์ ส่วนช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือนยาวไปจนถึงเดือนยี่เป็งคือช่วงเทศกาลลอยกระทงรวมเป็น 4 เดือน ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จะเรียนวันจันทร์ถึงวันศุกร์ เว้นแต่ว่าหากวันศีลวันพระตรงกับวันใดใน 5 วันนี้ก็จะเรียนชดเชยในวันเสาร์ เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ปฏิบัติศาสนกิจ ศาสนพิธีในวัด และมีการปิดเทอมเหมือนกับนักเรียนฆราวาสทั่วไป

การเรียนหนังสือจะเรียนที่ "โรงเรียนวัดพระปริยัติธรรม" ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดของหลวงพ่อเจ้าคณะอำเภอ เป็นโรงเรียนการกุศลในพระพุทธศาสนา เปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย ไม่เสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาเล่าเรียน ไม่มีค่าบำรุงการศึกษา อีกทั้งสมุดหนังสือก็ไม่ต้องเสียเงินซื้อ และหากสามเณรรูปใดเรียนเก่งสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนก็จะมีทุนการศึกษาให้อีก โดยโรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่มีแต่พระภิกษุและสามเณรเรียนเท่านั้นไม่มีฆราวาสหรือชาวบ้านร่วมเรียนด้วย โดยมีครูผู้สอนที่เป็นพระสงฆ์ที่เรียกว่าพระอาจารย์และคุณครูที่เป็นคฤหัสถ์ที่มีทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี

การเดินทางไปเรียนจากวัดที่สามเณรมนตรีจำวัดอยู่ไปถึงโรงเรียนวัดพระปริยัติธรรม มีระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร หรือถ้าตีออกมาเป็นเวลาก็ประมาณ 30 นาที ใช้วิธีการเดินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ก็มีรถยนต์รับจ้างรับส่ง แต่ตุ๊ลุงเจ้าอาวาสไม่อนุญาต โดยต้องการให้พระเณรได้ฝึกความอดทน ทุก ๆ วันจะออกเดินทางตั้งแต่ เวลา 7 นาฬิกาหรือหลังจากที่ฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว

การแต่งกายต้องครองผ้าเหลือง สวมสบงยาวประมาณครึ่งแข้ง คาดผ้าประคต สวมผ้าอังสะ ห่มจีวรเปิดไหล่ซ้าย ผูกด้วยผ้ามัดอก เรียกว่าการ "ห่มดอง" ให้เรียบร้อย เดินทางด้วยความสำรวม และสะพายถุงย่ามใส่หนังสืออุปกรณ์การเรียน รวมทั้งห่อข้าวใส่ปิ่นโตไปฉันในมื้อกลางวันด้วย

"แม่ แม่ เณรมาแอ่วบ้าน" (แม่ แม่ สามเณรมาเยี่ยมบ้าน) เสียงของแสงเดือนตะโกนเรียกอุ้ยมีผู้เป็นแม่ว่าสามเณรมาบ้านขณะที่ตัวเองวุ่นวายกับการขายข้าวซอยอยู่ พออุ้ยมีได้ยินเสียงเรียกนั้นจึงดีใจมาก รีบพาสังขารอันผอมแห้งของตนเองออกมาต้อนรับพร้อมทั้งยกขวดน้ำดื่มพลาสติกออกมาจากตู้เย็นเทลงใส่แก้วเพื่อถวายสามเณรมนตรี

"อุ้ยกิ๋นข้าวแล้วกะ ป้ายะหยังหื้อกิ๋น" (อุ้ยกินข้าวหรือยัง ป้าทำอะไรให้กิน) สามเณรมนตรีถามด้วยความห่วงใย เมื่อเห็นสภาพร่างกายที่ดูแล้วไม่ค่อยมีเรี่ยวมีแรงของอุ้ยมี

"แค่ก ๆ ๆ กิ๋นแล้ว ป้าของเณรทอดป๋าหื้อกิ๋น อุ้ยกิ๋นเผ็ดบ่ได้" (กินแล้ว ป้าของสามเณรทอดปลาให้กิน อุ้ยกินเผ็ดไม่ได้) อุ้ยมียกมือไหว้ตอบสามเณรพร้อมกับเสียงไอ

"ตุ๊ลุงเปิ่นประชุมก๋รรมก๋านวัด ว่าเดือนหน้าก่อนออกวสาวัดบ้านเฮาจะกิ๋นสลาก เดียวเปิ่นจะประกาศออกเสียงตามสายหื้อจาวบ้านผะชุมกั๋นแหมกำ" (สามเณรบอกอุ้ยมีว่า...หลวงลุงประชุมกรรมการวัดว่าเดือนหน้าก่อนออกพรรษาวัดบ้านเราจะจัดงานสลากภัตขึ้นและจะประกาศออกเสียงตามสายให้ชาวบ้านให้มาประชุมกันอีกที)

อุ้ยมีก็ยกมือไหว้เปล่งเสียงออกมา "สาตุ๊" (สาธุ) อย่างมีความสุขที่จะมีโอกาสได้ทำบุญถวายสลากภัตอีกครั้งหนึ่งของชีวิต

จากนั้นทั้งคู่ก็คุยกันเรื่องสัพเพเหระทั่วไป จนเวลาเกือบถึง 11 นาฬิกา แสงเดือนจึงนิมนต์ให้สามเณรมนตรีฉันเพลที่บ้านก่อนกลับวัด โดยที่เธอถวายข้าวซอยและของหวานลอดช่องให้สามเณรมนตรี

ซึ่งประวัติของการทำบุญสลากภัตที่จะจัดขึ้นอีกไม่กี่สัปดาห์ตามที่สามเณรมนตรีบอกกล่าวกับอุ้ยมีนั้น ตุ๊ลุงเคยเล่าให้ฟังว่า

"ในอดีตสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่ในอาศรมนั้น ได้มีสีกาผู้หนึ่งอุ้มบุตรชายวิ่งหนีนางยักขิณีผู้มีกรรมด้วยกันหลายชาติ ติดตามมาเพื่อหวังจะทำร้ายลูกของนาง นางสีกาจึงพาบุตรชายวิ่งหนีเข้าไปในอาศรม ซึ่งเป็นช่วงขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระสงฆ์อยู่ นางเอาลูกน้อยวางแทบพระบาทของพระองค์ แล้วกราบทูลว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงโปรดเป็นที่พึ่งแก่บุตรของข้าพเจ้าด้วย” เมื่อนางยักขิณีตามมาถึง พระพุทธเจ้าจึงได้เทศนาธรรมในเรื่องของการจองเวรซึ่งกันและกัน ให้นางทั้งสองรู้จักผิดชอบชั่วดี จากนั้นก็ให้ศีล 5 แก่นางทั้งสอง ทำให้นางยักขิณีเกิดดวงตาเห็นธรรม

ต่อมาเมื่อนางยักขิณีกลับใจเป็นคนดี ได้เป็นเพื่อนกับนางสีกาผู้นั้น ที่บำรุงดูแลเลี้ยงดูนางเป็นอย่างดี นางยักขิณีสำนึกในบุญคุณ จึงได้ใช้วิชาทำนายพยากรณ์ดินฟ้าอากาศเพื่อการทำนาแก่นาง ว่าปีใดหากฝนดีให้ทำนาในที่ดอน หากปีใดที่ฝนแล้งให้ทำนาในที่ลุ่ม ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้มากตามที่หวัง

เมื่อชาวบ้านทราบเรื่องว่านางสีกาเก็บเกี่ยวข้าวได้ดี จึงขอร้องให้นางยักขิณีช่วยเหลือ จนข้าวนาอุดมสมบูรณ์ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจึงพากันนำข้าวปลาอาหาร ผลไม้ ของหวาน มามอบให้แก่นางยักขิณีมากมาย นางจึงนำมาใส่ชะลอมขึ้นหลายกัณฑ์ไปถวายพระสงฆ์ โดยให้พระสงฆ์ได้ทำการจับสลากด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของถวายที่มีทั้งของที่มีราคามากและราคาน้อย พระสงฆ์องค์ใดจับสลากได้ของมีค่าน้อยก็ไม่ควรเสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชควาสนาของตน ซึ่งการถวายชะลอมที่ต่อมาเรียกว่า "สลากภัต" นับเป็นครั้งแรกที่เกิดประเพณีการทำบุญถวายทานสลากภัตขึ้นในพระพุทธศาสนา"

วันนี้เป็นวันพระ พุทธศาสนิกชนเข้ามาทำบุญที่วัดกันเป็นปกติมีทั้งอุบาสก อุบาสิกาที่ถือศีล 8 มาปฏิบัติธรรมนอนวัดตั้งแต่เมื่อวาน ตลอดจนชาวบ้านทั่วไปที่นำภัตตาหารต่าง ๆ มาใส่บาตรพระ ครั้นเมื่อถึงเวลามัคนายกก็จะนิมนต์พระสงฆ์สามเณรมารับภัตตาหารนั้นในพระวิหาร ซึ่งผู้ใหญ่บ้านจึงถือโอกาสประกาศแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่าบ้านเราจะมีงานบุญสลากภัตขึ้นในอีก 3 ศีลข้างหน้า

สามเณรมนตรีนั่งตรงแท่นสงฆ์ร่วมกับพระรูปอื่น ๆ ชะเง้อหน้ามองหาญาติตนเองไม่เจอทั้งอุ้ยมีและป้าแสงเดือน ซึ่งปกติจะมาทำบุญที่วัดทุกวันพระ หลังจากทำพิธีทางศาสนาและฉันภัตตาหารเสร็จ สามเณรมนตรีจึงขออนุญาตตุ๊ลุงไปบ้าน เพราะคิดว่าน่าจะมีอะไรผิดปกติสักอย่างกับครอบครัวของตน

เมื่อเดินมาถึงบ้านก็เป็นไปตามที่ตนเองสังหรณ์ใจขึ้น บ้านประตูปิด ตะโกนเรียกก็ไม่ได้ยินเสียงใครตอบรับ มองเห็นแต่หม้อแกงอะลูมิเนียมที่มีทัพพีแช่อยู่คาหม้อไว้ที่เตาแก๊สกับกระติกข้าวตรงร้านข้าวซอยที่ใช้เป็นโรงครัว จึงถามลุงจั๋นคนใกล้บ้าน แกบอกว่าเห็นแสงเดือนพาอุ้ยมีนั่งรถปิ๊กอัพไปกับน้าคำ บอกว่าจะพาไปโรงพยาบาล สามเณรมนตรีได้ยินดังนั้นจึงตกใจเล็กน้อย พร้อมทั้งมองโลกในแง่ดีว่า "อุ้ยมีคงไปหาหมอตามปกติ คงไม่มีอะไร" จึงเดินกลับวัด

ช่วงบ่ายของวันเดียวกันนั้น ขณะที่ทางวัดกำลังจะมีการเทศนาธรรมเพื่อโปรดศรัทธาญาติโยมตามปกติในวันพระ น้าคำขับรถมาที่อารามพร้อมกับนิมนต์ให้สามเณรมนตรีและตุ๊ปี้แก้วซึ่งไม่ได้เทศนาธรรมในศีลนี้ไปโรงพยาบาลเพื่อไปเยี่ยมไปโปรดให้กำลังใจอุ้ยมี ซึ่งน้าคำบอกกับตุ๊ลุงเจ้าอาวาสพร้อมทั้งพระทั้งสองว่า ตอนเช้าวันนี้ขณะที่อุ้ยมีกำลังจะให้แสงเดือนขับมอเตอร์ไซค์ส่งมาทำบุญที่วัด ขณะที่กำลังจะคดข้าวนึ่งใส่กระติก จู่ ๆ ก็เกิดอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ค่อยออก มือไม้สั่น แสงเดือนจึงวิ่งไปเรียกน้าคำให้พาไปส่งโรงพยาบาลที่อำเภอ แต่ต่อมาหมอเห็นว่าอาการหนักจึงส่งต่อไปที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดด้วยรถพยาบาล

เมื่อทุกคน ทุกรูป ไปถึงโรงพยาบาลในตัวเมืองก็สอบถามเจ้าหน้าที่ว่าอุ้ยมีอยู่ห้องใด ซึ่งเจ้าหน้าที่จึงรีบค้นข้อมูลแล้วบอกว่า "อยู่ตึกผู้ป่วยฉุกเฉินห้องรวมสตรีชั้นสอง" เมื่อไปถึงที่ห้องดังกล่าวจึงเห็นสภาพของอุ้ยมีนอนหลับตาอยู่ในชุดของคนป่วยสีขาวหลวม ๆ ตรงจมูกถูกสวมด้วยเครื่องช่วยหายใจเชื่อมต่อกับถังออกซิเจน ที่แขนใกล้ ๆ ข้อศอกถูกเจาะด้วยเข็มที่มีสายน้ำเกลือห้อยระโยงระยางอยู่ข้างเตียงพยาบาล มีตัวเลขดิจิทัลแสดงการเคลื่อนไหวไม่คงที่ ปรากฏอยู่บนหน้าจอสีฟ้าทรงสี่เหลี่ยมใกล้ ๆ เตียงของอุ้ยมีตลอดเวลา โดยมีแสงเดือนลูกสาวคนโตนั่งดูแลอย่างใกล้ชิด สามเณรมนตรีจึงเดินไปที่ข้างเตียงกระซิบข้างหูอุ้ยมีว่า "อุ้ย ๆ เณรมาหาแล้ว" เมื่อเสียงกระซิบอันแผ่วเบานั้นจบ จู่ ๆ พลันนั้นน้ำตาของอุ้ยมีก็ไหลออกมาอาบลงตรงแก้มทั้งสองข้างจนขอบตาช้ำเป็นสีแดง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวใดใดของร่างกายส่วนภายนอก จากนั้นสามเณรมนตรีจึงจับมือที่ค่อนข้างไร้น้ำหนักและไร้ความรู้สึกของอุ้ยมีกุมไว้อย่างแน่นขึ้น สัมผัสได้ถึงความอบอุ่นที่ไม่ปกติ โดยไม่สนใจว่าเธอเป็นผู้หญิง ซึ่งทุกคนต่างเข้าใจในความผูกพันของยายกับหลานคู่นี้เป็นอย่างดีจึงไม่มีใครว่าอะไร โดยแสงเดือนได้เล่าเรื่องราวตามที่คุณหมอบอกให้ทุกคนฟังอย่างปลงตกว่า

"แม่มีอาการหนักมาก ด้วยโรควัณโรคอย่างรุนแรงเนื่องจากสูบบุหรี่จัด ทำให้สภาพร่างกายไม่แข็งแรง อีกทั้งอายุมาก ภูมิต้านทานจึงน้อย ให้ญาติพี่น้องโปรดทำใจล่วงหน้าไว้ ไม่ช้าก็เร็ว"

3 วันต่อมา หลังจากที่แสงเดือนโทรศัพท์บอกเพ็ญว่าผู้เป็นมารดาป่วยหนัก ตั้งแต่วันแรกที่เข้าโรงพยาบาล เธอจึงรีบขออนุญาตลางานจากเจ๊ เก็บข้าวของที่จำเป็น แล้วนั่งรถจากกรุงเทพฯ มาลงที่เชียงรายโดยนั่งรถรับจ้างจากท่ารถมุ่งตรงมาที่โรงพยาบาลทันทีโดยที่ยังไม่ได้เข้าบ้าน

ทุกคนต่างทำใจกันไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะคุณหมอบอกอีกครั้งว่า "สภาพของอุ้ยมี หายใจด้วยตัวเองไม่ได้ แต่ที่อยู่ได้เพราะเครื่องช่วยหายใจเท่านั้น หากถอดออกก็จะเสียชีวิตทันที เพราะสมองไม่สั่งการแล้ว อยู่ที่นี่กับอยู่ที่บ้านก็เหมือนกัน" ญาติพี่น้องทุกคนปรึกษากันว่าจะพาอุ้ยมีกลับไปรักษาตัวบ้านโดยใช้วิธีการของทางพุทธศาสนาช่วยที่แม้ว่าวิธีการอาจจะไม่ทันสมัยเหมือนกับที่ทางการแพทย์รักษา แต่ของแบบนี้ผู้เฒ่าผู้แก่รุ่นเก่าเขียนบอกเล่าไว้ในตำรา "ไม่ลองไม่รู้ ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่" ว่ากันแบบนั้น ซึ่งลึก ๆ แล้วทุกคนก็ยังมีความมั่นใจ อย่างน้อยก็ในแง่ของกำลังใจ จึงเชื่อว่าจะต้องมี "ปาฏิหาริย์" เกิดขึ้นกับครอบครัวอีกสักหนเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายครา

เมื่ออุ้ยมีกลับมาพักฟื้นที่บ้านในสภาพที่อยู่ได้เพราะเครื่องช่วยหายใจ ร่างกายภายนอกส่วนอื่น ๆ ไม่มีการเคลื่อนไหวใดใด แต่ญาติพี่น้องยังมีความเชื่อว่าอุ้ยมีต้องหายจากอาการป่วย จึงบอกพ่อหนานเป็งซึ่งเป็นพ่ออาจารย์ผู้ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมประจำหมู่บ้าน อาราธนาตุ๊ลุงเทศนาธรรม "มหาวิบาก" ให้กับอุ้ยมีในวันเสาร์ที่จะถึงนี้

อุ้ยมีนั้นแกเป็นคนเมืองลำปางตั้งแต่กำเนิด เป็นลูกของพ่ออุ้ยปัน แม่อุ้ยนา มีพี่น้องร่วมสายโลหิตกันทั้งหมด 3 คน แกเป็นคนกลางมีพี่คือพ่ออุ้ยปุ๊ด มีน้องอีกคนหนึ่งคือแม่อุ้ยสา ปัจจุบันทั้งคู่เสียชีวิตแล้ว โดยมีสามีชื่อพ่ออุ้ยดวงดี เสียชีวิตไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อนตั้งแต่สมัยที่สามเณรมนตรียังไม่เกิด มีบุตรี 2 คนคือแสงเดือนกับเพ็ญ

ตามประวัติที่ปรากฏเป็นหลักฐานเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรจารึกไว้ในปั๊บสา(คล้าย ๆ กับสมุดข่อยของภาคกลาง)ที่วัด เมื่อ 60 ปีก่อนตั้งแต่อุ้ยมีเป็นเด็กอายุประมาณ 5 ถึง 6 ขวบ ครอบครัวได้อพยพมาจากเมืองลำปางร่วมกับครอบครัวอื่น ๆ อีก 10 กว่าครอบครัวด้วยวัวเทียมเกวียน เนื่องจากทนสภาพความแห้งแล้งที่นั้นไม่ไหว เดินทางบุกป่าฝ่าเขาฝ่าดงมาเรื่อย ๆ ประมาณเกือบเดือน ก็มาพบชัยภูมิที่ดี มีผืนดินอันอุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำสายใหญ่ไหลผ่านเหมาะสำหรับการทำนาทำสวนเป็นอย่างยิ่ง จึงได้จับจองแผ้วถางเป็นที่ทำกินและเป็นที่อยู่อาศัย ใครจะมีที่ดินมากน้อยเพียงใดนั้น ก็ขึ้นอยู่ที่ความขยันของแต่ละครอบครัว จึงตกลงตั้งหลักปักฐานสร้างหมู่บ้านอยู่ในบริเวณนี้จวบจนปัจจุบัน

เมื่อถึงพิธีกรรมการฟังพระธรรมเทศนาที่บ้าน ญาติพี่น้องจึงจัดเตรียมอาสนะไว้ให้ตุ๊ลุงและสามเณรมนตรีนั่ง เตรียมบาตรน้ำมนต์ สังฆทาน กัณฑ์ธรรม พร้อมทั้งปัจจัย จากนั้นจึงประคองอุ้ยมีมานอนฟังธรรมมหาวิบากจากตุ๊ลุง

โดย "ธรรมมหาวิบาก” ที่ตุ๊ลุงเทศน์ เป็นพระธรรมคำสอนที่นิยมใช้เทศนาให้กับผู้ที่เจ็บป่วยหนักฟัง โดยเชื่อกันว่าหากได้ฟังธรรมกัณฑ์นี้แล้ว ผู้ป่วยที่ยังไม่ถึงคราวเสียชีวิตจะหายเป็นปกติอย่างเร็วพลัน แต่ถ้าสิ้นบุญหมดอายุขัยก็จะเสียชีวิตโดยสงบในไม่ช้าเช่นกัน

ในเนื้อหาคำสอนนั้นเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความตระหนี่ ความโลภ และบาปจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับการเจ็บป่วยแต่อย่างใด ซึ่งสาเหตุของการอาราธนาพระธรรมมาเทศนาให้ฟังนั้น ก็คงจะเห็นว่าคนป่วยอยู่ในอาการหนัก เรียกกันตามภาษาเหนือว่า “วิบาก” คือเจ็บป่วยหนักใกล้เสียชีวิตแล้ว แต่ไม่ยอมไปง่าย ๆ จึงคิดว่าคนป่วยน่าจะมีความลำบากอันหนักหนา ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน ถ้าเอาธรรมมหาวิบาก มาเทศนาให้ฟังก็อาจจะมีผลทำให้พ้นวิบากกรรม

เพียงสองวันหลังจากที่ตุ๊ลุงมาเทศนาธรรมที่บ้าน อุ้ยมีพึงพอใจในบุญกุศลที่ตนเองได้กระทำมาตลอด ทั้งการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร รักษาศีล ฟังเทศน์ฟังธรรม เลี้ยงดูบุตรหลาน จนถึงวาระท้าย ๆ ของชีวิตก็ได้ร่วมทำบุญบรรพชาสามเณรมนตรีซึ่งเป็นหลานแท้ ๆ ในสายเลือด รวมทั้งได้ร่วมภาวนาทำบุญถวายสลากภัต

...สุดท้ายปาฏิหาริย์อันเป็นสิ่งที่ทุกคนคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นแก่ครอบครัวอีกสักครั้งนั้นปรากฏว่า...

"ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว"
แม้ว่าจะพยายามดื้อดึงฝืนดวงชะตาด้วยเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งต่อให้เทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวหน้าทันสมัยมากสักแค่ไหน แต่มันก็ไม่สามารถทำให้ชีวิตของสตรีสูงวัยผู้นี้รอดพ้นจากเงื้อมมือมัจจุราชได้

บัดนี้อุ้ยมีได้จากไปอย่างสงบ ดุจเปลวไฟที่เปล่งประกายในเทียนดับวูบลง ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของลูกหลาน แม้ว่าร่างกายที่ไร้วิญญาณของอุ้ยมีจะหมดลมหายใจ สูญสลายไปกับธรรมชาติ แต่ก็ยังคงเหลือไว้ซึ่งคุณงามความดีที่ได้กระทำไว้เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ให้ญาติพี่น้องได้รำลึกถึง ให้เป็นบุญกุศลนำพาให้อุ้ยมีสู่สุคติ สู่สัมปรายภพ ที่อันพึงชอบ นำพาไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ดังสุภาษิตล้านนาที่ได้กล่าวไว้ว่า....

"วัวควายจ๊างม้า ต๋ายแล้วเหลือหนัง ดูกขนเขายังเอาใจ๊ก๋านได้
เถิงตี้สุดแล้ว ตึงปุ๋มและไส้ แหมคัวในอิ่มต๊อง
มนุษย์เฮาตาย สะหายปี้น้อง ไผบ่อ่วงข้องอาลัย
แม้แต่ดูกพัวะ ยังเอาขว้างไกล๋ กลั๋วจักเป็นภัยผีมาหลอกได้
ความชั่วฮีบหนี ความดีฮีบใกล้ ตายแล้วจื้อหากตึงยัง"



"กฤดาการ"

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เสียงก้องกังวาน ในห้วงฤทัย

เส้นทางสายผ้าเหลือง