เส้นทางสายผ้าเหลือง

ต้นศรีมหาโพธิ์สูงใหญ่ 2 - 3 ต้น ใบสีเขียวขจีคล้ายรูปหัวใจอันเป็นเอกลักษณ์ แผ่ออกเป็นวงกว้างให้ร่มเงาที่บริเวณด้านหน้าของวัด

ด้านในเขตอารามมีดอกแก้ว ดอกลั่นทม ที่ผลิดอกออกหลังจากได้รับหยาดน้ำจากพระพิรุณ นอกจากนี้ยังมีต้นสาละ ต้นหว้า มะตูม โกศล และพญาสัตบรรณที่มีเกสรส่งกลิ่นแรงจนเวียนหัว

ส่วนด้านหลังจะเป็นพวกไม้ผล เช่น ชมพู่ มะม่วง ลำไย รวมไปถึงมะพร้าวที่มีลำต้นอันสูงชะลูด คราคร่ำไปด้วยก้านใบสีเขียวเป็นแฉก ๆ หลายต้น ตรงต้นคอเต็มไปด้วยลูกอ่อนสลับกับลูกแก่ประมาณ 5 - 6 ทะลาย ปลิวพัดเอียงเอนไปกับสายลมจากที่พัดมาทางทิศใต้ คำนวนความสูงจากสายตาแล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 20 เมตร

ซึ่งไม้ผลชนิดนี้คนไทยคุ้นเคยกันอย่างดีมาเป็นเวลานาน สามารถใช้ประโยชน์เรียกได้ว่าแทบจะทุกส่วน ทั้งเนื้อและน้ำจากผลอ่อนรับประทานสดอร่อยชื่นใจ เนื้อจากผลแก่คั้นเป็นกะทิ นำไปปรุงอาหารและทำขนมได้หลากหลายชนิด เปลือกแยกเอาแต่เส้นใยใช้เป็นวัสดุทำเบาะและที่นอน ขุยใช้เพาะชำต้นไม้ กะลาใช้ทำเป็นกระบวยและเครื่องดนตรีประเภทซอ ใบทั้งอ่อนและแก่ ตลอดจนก้านใบใช้มุงหลังคา ทำไม้กวาด ยอดอ่อนใช้เป็นอาหาร จั่นหรือช่อดอกมีน้ำหวานนำมาทำเป็นน้ำตาล

นอกจากพืชพันธุ์ต่าง ๆ นานาชนิดแล้วบริเวณวัดยังมีศาสนสถานสิ่งปลูกสร้างที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของศรัทธาชาวบ้านอีกมากมาย เช่น ด้านทิศตะวันออกจะเป็นหอระฆัง ทิศใต้เป็นกุฏิจำวัด ตรงกลางพื้นที่เขตสงฆ์จะเป็นศาลาการเปรียญ พระวิหาร พระธาตุ ส่วนด้านหลังเป็นโรงฉัน ห้องน้ำ และศาลาบาตร ส่วนทิศเหนือจะเป็นอุโบสถ และเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลังเก่าซึ่งมีการยกเลิกใช้ไปเมื่อยี่สิบ สามสิบปีก่อน ที่ดูแล้วมีมนต์ขลัง มีบรรยากาศวังเวงมากโดยเฉพาะในตอนกลางคืน ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ที่เห็นนั้นล้วนแต่เป็นภาพที่แปลกตาแปลกใหม่สำหรับสามเณรผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดเชียงราย หลังงานแต่งของแสงเดือนผู้เป็นป้าได้เพียง 2 วัน โดยนั่งรถมาร่วม ๆ 8 ชั่วโมงพร้อมกับตุ๊ลุงเจ้าอาวาสและน้าคำ เพื่อมาศึกษาเล่าเรียนต่อในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเพ็ญแม่ของเณรก็รับรู้และยินดีให้เรียนหนังสืออยู่ภายใต้ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ และพร้อมที่จะส่งปัจจัยให้ใช้ในทุกเดือน

"กราบนมัสการครับ ตุ๊ปี้" (กราบนมัสการครับหลวงพี่) ตุ๊ลุงผู้ดูแลสามเณรมนตรียกมือไหว้ก้มลงกล่าวทักทายหลวงลุงเจ้าอาวาสที่มีพรรษาแก่กว่า จากนั้นสามเณรมนตรีก็ยกมือไหว้พร้อมก้มลงกราบ

"ไหว้สา" หลวงลุงเจ้าอาวาสทักทายตอบพร้อมรับไหว้

"กระผมขอฝากเณรไว้เฮียนหนังสือกับตุ๊ปี้ต๋นหนึ่งครับ" (กระผมขอฝากสามเณรไว้เรียนหนังสือกับท่านเจ้าอาวาสรูปหนึ่งครับ) ตุ๊ลุงคุยเป็นการเป็นงานทันที

"เณรต๋นนี้ จื่อเณรมนตรี สวดมนต์จ่าง ว่าธรรมได้ ถ้ามีอะหยังก็ขอตุ๊ปี้อบรมสั่งสอนต่อเด้อครับ" (สามเณรรูปนี้ ชื่อสามเณรมนตรี สวดมนต์เป็น เทศนาธรรมได้ ถ้ามีอะไรก็ขอให้หลวงพี่อบรมสั่งสอนต่อนะครับ) ตุ๊ลุงแนะนำสามเณรมนตรีให้ท่านเจ้าอาวาสรู้จัก

"อยู่นี่ก็บ่ามีหยังนัก ขอหื้อตั้งใจเฮียน จ่วยกั๋นยะก๋านวัดก๋านวา ศรัทธาจาวบ้านเปิ่นจะได้ฮัก" (อยู่ที่นี้ก็ไม่มีอะไรมาก ขอให้ตั้งใจเรียน ช่วยกันทำงานวัด ศรัทธาชาวบ้านเขาจะรักจะชอบ) ท่านเจ้าอาวาสกล่า

"วัดนี่มีตุ๊เจ้า 3 ต๋น เณรแหม 7 เฮียนหนังสือกู่ต๋น" (วัดนี้มีพระ 3 รูปและสามเณรอีก 7 รูป เรียนหนังสือทุกรูป) ท่านเจ้าอาวาสกล่าวต่อ

จากนั้นท่านก็พาไปดูห้องพักในกุฏิที่ยังไม่ได้ทำความสะอาด มีพื้นที่ประมาณ 3 คูณ 3 ตารางเมตร ประกอบด้วยฝุ่นและหยากไย่เต็มไปหมด ตรงกลางห้องมีเตียงเปล่าตั้งอยู่ ท่านบอกว่าเดี๋ยวจะให้เณรลูกวัดมาทำความสะอาดให้ พร้อมทั้งนำหมอนและผ้าห่มออกมาจากตู้เก็บของ ซึ่งสามเณรมนตรียกมือไหว้กล่าวขอบคุณ และบอกว่าเดี๋ยวหลังจากที่ไปสมัครเรียนแล้วกลับมาจะมาทำความสะอาดเอง

น้าคำก็พาสามเณรมนตรีไปที่บ้านของลุงผินพี่ชายของตนที่อยู่ลำปางมาตั้งแต่เกิด ปล่อยให้ตุ๊ลุงสนทนากับเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดรอ สาเหตุที่สามเณรมนตรีกับน้าคำเป็นญาติเดียวกันนั้น ตามประวัติคือ พ่ออุ้ยปันกับแม่อุ้ยนามีลูกด้วยกัน 3 คนคือ 1) พ่ออุ้ยปุ๊ด ไม่มีลูก 2) แม่อุ้ยมี มีลูกสองคนคือแสงเดือนกับเพ็ญซึ่งเป็นแม่ของสามเณรมนตรี 3.) แม่อุ้ยสาซึ่งแต่งงานกับพ่ออุ้ยลูนคนลำปาง มีลูก 4 คนคือ ลุงผิน ป้าผ่อง น้าคำ น้าหล้า กล่าวง่าย ๆ คืออุ้ยมีแม่ของแสงเดือนกับเพ็ญเป็นป้าของน้าคำและลุงผินนั่นเอง

น้าคำได้ยืมมอเตอร์ไซค์ของลุงผินพาสามเณรมนตรีไปสมัครเรียนที่โรงเรียนวัดพระปริยัติธรรมที่อยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง พอไปถึงโรงเรียนอาจารย์ใหญ่เกือบจะไม่รับ เนื่องจากเปิดทำการเรียนการสอนได้ 2 - 3 วันแล้ว แต่พออาจารย์ดูหลักฐานที่มาสมัครพร้อมทั้งใบแสดงผลการเรียนปรากฏว่ามีผลการเรียนดี พฤติกรรมดีไม่น่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับสถานศึกษา เขาจึงรับเข้าเรียนในที่สุด

เมื่อกลับมาสามเณรมนตรีจึงรีบทำความสะอาดห้องจำวัดในกุฏิทันที สัมภาระของตนเองไม่มีอะไรมากมีเพียงสบง จีวร 2 3 ชุด ผ้าเช็ดตัว ผ้าอาบน้ำฝน บาตร ของใช้ส่วนตัวพวกสบู่ แปรงฟัน ยาสีฟัน และเงินสดอีก 500 บาท ซึ่งวันนี้ตุ๊ลุงจะนอนค้างที่วัดนี้ด้วย 1 คืน ส่วนน้าคำไปนอนที่บ้านลุงผิน พรุ่งนี้จึงจะเดินทางกลับเชียงราย

เมื่อถึงเวลา 6 โมงเย็น พระสงฆ์และสามเณรทุกรูปจะเข้าพระวิหารเพื่อทำวัตรเย็น เมื่อเสร็จท่านเจ้าอาวาสก็ได้แนะนำให้สามเณรมนตรีรู้จักบุคลากรของวัด โดยมีพระสงฆ์ที่อายุมากรวมเจ้าอาวาสแล้วมี 3 รูป ส่วนสามเณรก็มีสามเณรชัย สามเณรเอก ที่เป็นรุ่นพี่เรียนอยู่ชั้น ม.6 สามเณรหนึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.3 สามเณรเพชรกับสามเณรพงษ์เรียนอยู่ชั้น ม.2 และสามเณรยศกับสามเณรกล้วยเพิ่งบวชใหม่เรียนอยู่ชั้น ม.1 เมื่อรู้จักกันหมดแล้วท่านเจ้าอาวาสก็แนะนำกฎระเบียบของวัดให้สามเณรผู้มาใหม่รับทราบพร้อมทั้งให้นำไปปฏิบัติ ซึ่งกฎก็เป็นเรื่องทั่ว ๆ ไป เช่น ช่วยกันทำงาน มีการแบ่งเวรทำความสะอาดโรงฉัน ศาลาการเปรียญ พระวิหาร กุฏิ แต่มีระเบียบที่แปลกประหลาดข้อ 1 คือหลัง 2 ทุ่มทุกวันไฟจะดับทั่ววัด ซึ่งเป็นสาเหตุประการใดนั้นหากอยู่ไปอีกสักพักคงได้ทราบ จากนั้นจึงแยกย้ายทำภารกิจส่วนตัว

เมื่อสรงน้ำเสร็จกำลังจะจำวัด ตุ๊ลุงในฐานะของผู้ปกครองของสามเณรมนตรี ได้อบรมสั่งสอนว่า

"อยู่ตี่นี่แม้ว่าจะเป็นบ้านต้นตระกูลของหมู่บ้านเฮา แต่มันก็บ่ใจ้บ้านของเณรแต่เกิด ขอหื้อเณรอดทน ตั้งใจเรียน ห้ามผิดวินัยสงฆ์เด็ดขาด ขอหื้อเอาตัวรอดหื้อได้เด้อ"

(อยู่ที่นี่แม้ว่าจะเป็นบ้านต้นตระกูลของหมู่บ้านเรา แต่มันก็ไม่ใช่บ้านของเณรแต่กำเนิด ขอให้เณรอดทน ตั้งใจเรียน ห้ามผิดวินัยสงฆ์อย่างเด็ดขาด ขอให้เอาตัวรอดให้ได้)

ตุ๊ลุงให้แง่คิด

ตลอดระยะเวลาที่จำพรรษาอยู่ในจังหวัดลำปาง สามเณรมนตรีตั้งใจเรียนเป็นอย่างดี เข้ากับพระเณรได้ทุกรูป แต่ก็มีบางรูปที่ภายนอกดีด้วย แต่ภายในจิตใจยังมีความอิจฉาริษยา สาเหตุเป็นเพราะเจ้าอาวาสมักจะให้ความสำคัญกับผู้ที่มาจากเชียงรายมากกว่าสามเณรเจ้าบ้าน เนื่องจากสวดเจริญพระพุทธมนต์ได้ เทศนาธรรมเป็น เสียงดี มีจังหวะจะโคน เวลามีกิจนิมนต์มักจะถูกเรียกเป็นลำดับแรก ๆ เสมอ จึงมักจะถูกกลั่นแกล้งเพื่อเป็นการรับน้อง เช่น รองเท้าหายบ้าง,โดนรื้อข้าวรื้อของบ้าง,สบง จีวรถูกขโมยบ้าง เป็นต้น ประมาณพอให้รำคาญ ซึ่งก็ต้องใช้คำว่าอดทน บ่อยครั้งอดทนไม่ไหวก็ไปบอกให้ท่านผู้นำ ท่านก็ไม่ค่อยสนใจ ปล่อยเลยตามเลย ก็ได้แต่คิดในใจว่า "ช่างมันเถอะ สักพักถ้าเขาเบื่อเขาก็หยุดเอง"

สาเหตุที่เจ้าอาวาสไม่ค่อยสนใจนั้น เป็นเพราะสามเณรทุกรูป ทุกที่เหมือนกันหมด พอเริ่มเข้าสู่ช่วงอายุ 12 - 18 ปี จะมีพฤติกรรมเหมือนวัยรุ่นทั่วไป เพียงแต่มีข้อแตกต่างก็คือ ห่มผ้าเหลืองและมีศีลมากกว่าชาวบ้านทั่วไปแค่นั้นเอง มีความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อารมณ์แปรปรวน ชอบเรียกร้องความสนใจทั้งในเรื่องดีและไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นการฝ่าฝืนกฏระเบียบ เช่น ในเรื่องของการแต่งกายที่มักจะสร้างค่านิยมที่ผิด ๆ คือ "จีวรสั้น สบงยาว อังสะขาว ประคตดำ" ที่ปกติเครื่องนุ่งห่มถูกระเบียบของพระสงฆ์สามเณรนั้นสบงจะสวมให้สั้นประมาณครึ่งหน้าแข้ง จีวรก็จะยาวลงมาทับกับสบงหน่อย อังสะที่ใช้ต้องเป็นสีส้มเหลืองเท่านั้น ส่วนผ้าประคตก็ต้องใช้สีเดียวกับสบงจีวร ถ้าเป็นสีอื่นแสดงว่าแอบย้อมสีมาอย่างแน่นอน

หรือจะเป็นพวกความซนอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไรมากมาย เช่น การปีนต้นไม้ เล่นไล่จับ เล่นกีฬาโดยเฉพาะกีฬาแห่งมหาชนชาวโลกอย่าง "ฟุตบอล" ที่สามเณรวัดนี้เล่นเป็นกันทุกรูป รวมทั้งสามเณรผู้มาใหม่อย่างสามเณรมนตรีก็เอากับเขาด้วย ครั้งใดก็ตามที่เจ้าอาวาสไม่อยู่เมื่อไหร่ ทุกคนก็จะรู้กันทันทีว่าวันนี้มีนัดกระชับมิตรแน่ ๆ ซึ่งสถานที่แข่งขันนั้นก็จะเป็นสนาม "ศาลาการเปรียญสเตเดี้ยม" โดยลูกฟุตบอลนั้นไม่ใช่ลูกฟุตบอลจริงแต่เป็นลูกฟุตบอลที่ทำมาจากกระดาษหนังสือพิมพ์ซ้อนกันหลาย ๆ แผ่นแล้วขยำให้เป็นก้อน ห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติก จากนั้นก็รัดด้วยหนังสติ๊กหลาย ๆ เส้น ความใหญ่ขนาดเท่าศีรษะเด็กแรกเกิด แค่นี้ก็สนุกแล้วแต่จะสนุกอย่างเดียวไม่ได้ หูตาต้องไว หากได้ยินเสียงรถยนต์หรือใครเข้ามาในวัด ต้องเผ่นหนีไปหลบตั้งหลักอยู่ที่ไหนสักที่ก่อน

จนมีอยู่วันหนึ่งเป็นวันที่เรียกว่า"วันมหาวิปโยค" ของชาวคณะโดยแท้ ในคืนวันที่เจ้าอาวาสพร้อมทั้งพระสงฆ์ทุกรูปได้รับกิจนิมนต์ให้ไปสวดอภิธรรมงานศพที่ต่างหมู่บ้าน ทุกรูปรู้กันตามเวลาที่นัดหมาย ไปยังที่กำหนด ปิดประตูหน้าต่างทุกด้าน เปิดไฟให้สว่างทุกดวง

สามเณรมี 7 รูป แบ่งเป็นฝ่ายข้างละ 3 รูป ส่วนอีกรูปเป็นเศษให้ไปอยู่ข้างที่ไม่น่าจะเก่ง จัดการขยับสบง รวบแล้วม้วนสอดใต้หว่างขา เอาปลายหนีบไว้ที่ประคตด้านหลังตรงก้นคล้าย ๆ กับการนุ่งกางเกงขาสั้น เล่นไปได้สักชั่วโมงหนึ่ง ด้วยความไม่รอบคอบที่ปล่อยให้ความสนุกสนานเข้าครอบงำเสียจนลืมไปว่าน่าจะมีคนดูต้นทาง เมื่อเสียงรถมาส่งพระที่วัด ทุกคนไม่ได้ยิน ต่างคนต่างหูอื้อไปหมดด้วยเสียงที่ก้องดังในศาลา

พลันนั้นเจ้าอาวาสถือไม้หวายความยาวขนาดวาหนึ่งพร้อมพระสงฆ์อีก 2 รูปเดินย่องมาแอบเปิดประตูด้านหลังที่ไม่ได้ล็อกกลอน ขณะที่สกอร์ยังเสมอกันอยู่ 6 ประตูต่อ 6 จังหวะที่กำลังชี้เป็นชี้ตายใกล้หมดเวลาอยู่นั้นสามเณรพงษ์บรรจงเปิดลูกบอลด้วยเท้าขวาตรงกลางสนาม ลอยล่องมากำลังจะเข้าหัวสามเณรเอกที่ขึ้นโหม่งอยู่คนเดียวโดยไม่มีใครประกบ กะเอาให้มุดเสียบสามเหลี่ยมใต้คานประตูไม้สักที่แกะสลักเป็นรูปเทพพนมอย่างเด็ดขาด คิดว่าถ้าเข้านี่เป็นประตูชัยแน่ ๆ ทันใดนั้นเองไม้หวายของหัวหน้าผู้ปกครองวัดลอยละลิ่วมาจากทิศทางใดก็ไม่รู้กระทบเข้าที่หน้าผากของสามเณรเอกแทนลูกบอลกระดาษที่กระเด็นไปอีกทางอย่างเต็ม ๆ จนบวมปูดเป็นลูกมะกรูด ชนิดที่ว่าถ้าแตกแอนตาซิลคงได้แจกเป็นค่ารักษาพยาบาลให้แน่ ๆ ทุกคนรู้ทันทีว่าหายนะมาเยือนแล้ว ต่างวิ่งจ้ำอ้าวโกยหน้าตั้ง กระจัดกระจายเอาตัวรอดไปคนละทิศละทาง ปรากฏว่าคืนนั้นเจ้าอาวาสโมโห จึงสับสะพานไฟดับจนทั่ววัด พวกนักฟุตบอลที่ไม่ได้อาบน้ำกันต่างก็นอนบริจาคเลือดให้ยุงกันอย่างถ้วนหน้า

พอรุ่งเช้าพระสงฆ์และสามเณรทุกรูปต้องมาโปรดศรัทธากัน เนื่องจากเป็นวันศีล ซึ่งคนที่ได้รับการจับตามองมากเป็นพิเศษก็คือสามเณรเอก ประหนึ่งดารานำชายในละครช่อง 3 ที่หน้าผากปูดกลมออกเป็นตะปุ่มตะป่ำคล้ายผิวของคางคก เป็นสีเขียวอมม่วง สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อราตรีกาลที่ผ่านมา ครั้นเผลอสบตากับผู้คนเมื่อไหร่เป็นอันต้องได้ยินเสียงหัวเราะ "คิก คิก" จากญาติโยมทุกครั้ง

ในวันนี้ทางท่านเจ้าอาวาสพร้อมผู้นำชุมชนจึงถือโอกาสแจ้งให้ชาวบ้านทุกคนทราบ ว่าหลังจากออกพรรษานี้จะมีคณะศรัทธาจากกรุงเทพฯ เป็นลูกหลานบ้านนี้ที่ไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดในภาคกลาง เมื่อมีเงินมีทองกลับมา จึงปรารถนาจะสร้างบุญสร้างกุศลด้วยการทำบุญทอดกฐิน ซึ่งการทำบุญทอดกฐินนั้น ประเพณีจะคล้ายกับการทอดผ้าป่า มีการแต่งองค์ทรงเครื่อง รวมทั้งวัตถุประสงค์เหมือนกันทุกอย่างที่ส่วนใหญ่จะนำไปปรับปรุง บูรณะ ซ่อมแซมศาสนสถานในวัด เพียงแต่มีข้อแตกต่างกันในเรื่องของช่วงเวลาที่ทำบุญ

"ผ้าป่า" จะสามารถทอดได้ตลอดทั้งปี ไม่จำกัดช่วงเวลา ส่วน "กฐิน" สามารถกระทำได้ในช่วงเวลาเดียวคือตั้งแต่หลังออกพรรษา 1 วันเป็นต้นไปคือ แรม 1 ค่ำเดือน 11 จนถึงวันลอยกระทง ที่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือวันยี่เป็งในภาษาเหนือ และในวัดหนึ่งสามารถรับองค์กฐินได้เพียงวัดละ 1 คณะเท่านั้น...

ส่วนเส้นทางในการศึกษานั้น โรงเรียนที่สามเณรมนตรีได้มาแสวงหาความรู้นั้นเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแบบ "สห" ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านสามารถเรียนร่วมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทำการเปิดสอน 2 ระดับคือระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีนักเรียนทั้งหมด 238 รูป/คน โดยอยู่ถัดจากวัดที่ตนเองจำพรรษาไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง มีระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ใช้วิธีการเดินเท้า โดยเดินทางออกจากวัดประมาณ 7 นาฬิกาหรือหลังจากฉันเสร็จ ซึ่งธรรมเนียมที่นี่จะมีชาวบ้านในแต่ละหมวดจะสลับสับเปลี่ยนกันมาถวายภัตตาหาร โดยที่สามเณรไม่ต้องไปเก็บปิ่นโตเหมือนกับตอนที่อยู่เชียงราย

อาหารที่โดดเด่นเป็นสง่าของชาวจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านถ้วยก๋าไก่(ถ้วยตราไก่)ก็คือ "เห็ดถอบ" หรือ "เห็ดเผาะ" ตามที่เรียกกันในภาษากลาง ที่จะผุดออกมาจากดินให้ได้เก็บในช่วงต้นฤดูฝนประมาณปลายเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม ทุกเช้าจะเห็นชาวบ้านทั้งชายและหญิงขับมอเตอร์ไซค์ผ่านหน้าวัดพร้อมด้วยถุงกระสอบและตะขอความยาวขนาดหนึ่งศอกเพื่อเข้าป่า โดยป่าที่ว่านั้นจะเป็นป่าของชุมชนที่มีพวกพันธุ์ไม้อย่าง ต้นยาง ต้นเต็ง ต้นรัง ต้นสัก ขึ้นเป็นกลุ่มตามเนินเขา คนที่มีความชำนาญจะทราบอย่างทันทีว่าตรงไหนมีเห็ดถอบ เมื่อแน่ใจว่ามีจึงใช้ตะขอขูดหน้าดินเบา ๆ เห็ดก็จะโผล่ออกมาเป็นลูกกลม ๆ สีน้ำตาลขุ่น ๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ

เมื่อได้มาแล้วก็จะนำไปรับประทาน แกงบ้าง ต้ม นึ่งกับน้ำพริกบ้าง ผัดน้ำมันหอยบ้าง โดยจะนำมาถวายวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะนำไปจำหน่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เห็ดออกใหม่จะขายได้ถึงกิโลกรัมละ 3 ร้อยถึง 4 ร้อยบาทเลยทีเดียว พลอยทำให้พระเณรได้ฉันของอร่อย ของแพง ก่อนใครเพื่อน

สามเณรมนตรีเลือกเรียนในสายศิลป์ทั่วไปเพราะไม่ถนัดด้านการคำนวณ มีเพื่อนร่วมชั้นเรียน 26 คน เป็นบรรพชิตครึ่งหนึ่งและคฤหัสถ์ครึ่งหนึ่ง มีอาจารย์ผู้สอนที่ทั้งเป็นพระสงฆ์และฆราวาส ลักษณะคล้าย ๆ โรงเรียนเดิมจึงไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก

อีกอย่างคือเป็นคนที่ตั้งใจเรียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เป็นคนไม่โอ้อวดความเก่งของตนเองให้ใครรู้ นิสัยดี คุยสนุก อีกทั้งเป็นคนที่มีความสามารถในด้านของการใช้ภาษา ผลการเรียนไม่เคยตกจาก 3.00 เลยสักครั้ง จึงเป็นที่ชื่นชอบของครูบาอาจารย์และเพื่อน ๆ โดยมักจะได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาอยู่เสมอ อีกทั้งยังได้รับความไว้ใจจากโรงเรียนให้ช่วยงานอย่างตลอด

ครั้งนี้ก็เช่นกันหลังจากที่เข้ามาตะบันชีวิตที่เมืองรถม้าแห่งนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ในช่วงใกล้สอบประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อตำแหน่งประธานนักเรียนของคนปัจจุบันกำลังจะหมดวาระลงในสิ้นปีการศึกษานี้ ทางโรงเรียนจึงมีการประกาศรับสมัครประธานนักเรียนขึ้น โดยต้องการผู้สมัครที่เป็นนักเรียนฝ่ายบรรพชิตในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 3 รูปและฝ่ายคฤหัสถ์อีก 3 คน โดยหนึ่งในนั้นคาดว่าน่าจะเป็นสามเณรมนตรี ซึ่งทีแรกก็ไม่ได้สนใจจะลงสมัครแต่อย่างใด เนื่องจากต้องการเรียนหนังสือแบบเงียบ ๆ มากกว่าที่จะเข้าไปนั่งทำงานอยู่ในสภา แต่ด้วยความที่เพื่อน ๆ ผลักดันเพราะเห็นว่าเป็นคนที่ความคิด ความอ่านดี สามารถเป็นผู้นำได้ อีกทั้งครูบาอาจารย์บางท่านก็เห็นด้วยจากตัวอย่างวีรกรรม "ถีบประตูห้องน้ำอันลือลั่น" ที่เกิดขึ้นจากความสนุกสนานจนเป็นเรื่องดังนี้

วันหนึ่งในคาบเรียนวิชาคณิตศาสตร์คาบแรก สามเณรสมชายที่เป็นเพื่อนสนิทของสามเณรมนตรีทำธุระส่วนตัวในห้องน้ำ เมื่อกลับมาที่ห้องเรียนจึงกระซิบบอกสามเณรมนตรีว่า เห็นนายอำนวยเพื่อนในชั้นเรียนแอบสูบบุหรี่ในห้องน้ำนักเรียนชาย ได้ยินดังนั้นแล้วสามเณรมนตรีจึงให้ความสำคัญอยู่ที่การแกล้งเพื่อนมากกว่าความรู้ในวิชาตัวเลข จึงขออนุญาตอาจารย์ผู้สอนไปยังจุดเกิดเหตุในทันที

"ไหน ๆ มันอยู่ห้องใด" สามเณรมนตรีถามเพื่อนสนิท

"ห้องเนี้ย ๆ" สามเณรสมชายพาไปที่สุขาและชี้ไปยังประตูสังกะสีห้องน้ำมีที่ความสูงประมาณ 180 เซนติเมตร ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการอัดควันเข้าปอด เมื่อขยับจมูกสูดอากาศรอบ ๆ เพื่อพิสูจน์กลิ่นบริเวณนั้นแล้วเห็นว่าจริง วิญญาณของนายขนมต้มก็เข้าสิงร่างสามเณรมนตรีทันทีด้วยการยกขาซ้ายออกจากสบงบรรจงถีบเข้าไปที่ประตูบานนั้นอย่างเต็มแรง

โครม!!! ปั้ง!!!
เมื่อประตูที่ได้รับแรงกระแทกจากบาทาที่ห่อหุ้มด้วยรองเท้าแตะหูคีบตราสตางค์คู่สีน้ำเงิน จนกลอนข้างในหลุด มันจึงเปิดออกอย่างรวดเร็วปานสายฟ้าฟาด สิ่งที่ปรากฏอยู่ตรงหน้านั้นกลับไม่ใช่นายอำนวย แต่กลายเป็นอาจารย์พละ ซึ่งกำลังนั่งปลดทุกข์อยู่บนฐานคอห่านนั้นอย่างมีความสุข ทั้งคู่ไม่รอช้า เผ่นหนีด้วยความเร็วที่สปีดเหนือกว่านรก ปล่อยให้อาจารย์ท่านนั้นนั่งงงเป็นไก่ตาแตกอยู่ในห้องน้ำอย่างนั้นคนเดียว

นับแต่นั้นเป็นต้นมา นอกจากสามเณรมนตรีจะได้รับเสียงชื่นชม (อย่างไม่ตั้งใจ) ที่เป็นคนคิดดีในเรื่องของพิษภัยบุหรี่ ก็ไม่เคยมีอาจารย์ท่านใดไปใช้ห้องน้ำร่วมกับนักเรียนอีกเลย

ในเวลาหลังเลิกเรียน ขณะที่คนอื่น ๆ เขาทยอยกลับวัดกลับบ้านกันเกือบหมดแล้ว แต่สามเณรผู้มาจากเมืองเหนือสุดในสยามนี้ยังไม่กลับ จึงรีบปรี่เข้าไปขอคำปรึกษาจากพระอาจารย์ที่ตนให้ความเคารพที่ห้องพักครูว่า

"กราบนมัสการครับ พระอาจารย์ครับ เพื่อนผมจะให้ลงสมัครเลือกตั้งประธานนักเรียน และถ้าได้เป็นต้องทำอะไรบ้างครับ" สามเณรมนตรียกมือไหว้และถามเข้าเรื่องทันทีโดยไม่ต้องอารัมภบท

"ก็ช่วยงานโรงเรียน นำกิจกรรมในแต่ละวัน ช่วยอาจารย์ปกครองนักเรียน และทำงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย" พระอาจารย์ให้คำตอบกับสามเณรมนตรีอย่างเป็นกันเอง

"ถ้างานเยอะขนาดนั้น เราจะมีเวลาเรียนหนังสือเหรอครับ" สามเณรมนตรีถามด้วยความสงสัยด้วยน้ำเสียงที่อ่อนน้อมที่สุด

"ได้เรียนหนังสือตามตารางแน่นอน โดยที่ทางโรงเรียนจะให้ทำกิจกรรมโดยไม่เบียดเบียนเวลาเรียนของนักเรียนครับ" พระอาจารย์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

"มีเพื่อนในห้องเรียนสนับสนุนให้ผมลงสมัครนะครับอาจารย์" สามเณรมนตรีกล่าวความในใจออกมา

"ก็ดีแล้ว แสดงว่าเพื่อนของเธอเห็นความสามารถที่อยู่ในตัวเธอ ซึ่งพวกเขาอยากให้เธอเป็นผู้นำของเขานะ" พระอาจารย์กล่าวให้กำลังใจ

เมื่อได้รับคำปรึกษาจากพระอาจารย์แล้ว สามเณรมนตรียกมือไหว้กล่าวขอบคุณ จากนั้นจึงเดินกลับวัด ในระหว่างทางนั้นก็เดินครุ่นคิดไปด้วยว่าจะตัดสินใจอย่างไรจะลงหรือไม่ลงสมัครดี

"ขอเวลาคิดในคืนนี้ล่ะกัน" เขาพูดกับตัวเอง



"กฤดาการ"

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เสียงก้องกังวาน ในห้วงฤทัย

"ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง"