พัฒนาผู้เรียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจาก STEM เป็น STEAM Education

พัฒนาผู้เรียนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจาก STEM เป็น STEAM Education

มุมมองการจัดการเรียนรู้แบบ  STEM Education ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการในการจัดการศึกษาระดับขั้นพื้นฐานในปัจจุบันอย่างไรก็ตามนักการศึกษาหลายท่านได้มองว่าการจัดการเรียนรู้แบบ STEM นั้นยังไม่ครอบคลุมในการพัฒนาผู้เรียนอย่างสมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 นี้ จึงได้มีการนำเสนอคำว่า Art (A) เข้ามาผนวกด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากทักษะ องค์ความรู้ การบูรณาการการเรียนรู้  วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ คณิตศาสตร์ (Mathematics) ที่เชื่อว่า องค์ความรู้ วิชาการของศาสตร์ทั้งสี่ที่มีความเชื่อมโยงกันในโลกของความเป็นจริงที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ต่างๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกันในการดำเนินชีวิตและการทำงาน นั้นยังไม่เพียงพอต่อความเป็นมนุษย์ และความเป็นจริงของโลก 

ความงาม ความมีสุนทรียศิลป์ ที่ไม่ได้กล่าวถึงใน STEM Education จึงเป็นจุดอ่อนของการจัดการเรียนรู้แบบ STEM Education การนำเสนอให้มีการบูรณาการด้านศิลปะ (A) เข้าสู่การจัดการเรียนแบบ STEM  อาจกล่าวได้ว่า เป็นการแก้ไขจุดอ่อน ของ STEM Education ก็ว่าได้
   
STEAM เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการที่นำศิลปะมาบูรณาการกับการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ปัจจัยสำคัญในการนำแนวคิด STEAM มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ คือ บริบท (Context) การออกแบบสร้างสรรค์ (Creative Design) และการสร้างความจับใจ (Emotional Touch) ในการออกแบบกิจกรรมสร้างสรรค์ สิ่งสำคัญในการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่สำคัญ 4-ประเด็น คือ 1) การบูรณาการ (Integration) 2) ความหลากหลาย (Variety) 3) ความลึก (Deep) และ4) ความเป็นพลวัต (Dynamic)

การศึกษาแบบ STEM ไม่เพียงแต่เป็นการสอนแบบบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ แต่การศึกษาแบบ STEM ยังสามารถนำมาบูรณาการวิชาศิลปะ สำหรับเด็กอีกด้วย โดยเพิ่มคำว่า A-Art เข้าไปในคำว่า STEM เป็น STEAM เพราะศิลปะเป็นการช่วยให้เด็กได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์และเกิดจินตนาการที่สามารถนำไปสู่การแสดงออกในรูปแบบต่างๆ เช่น การประดิษฐ์ การเต้น ดนตรีและการสื่อสาร ซึ่งศิลปะนับว่ามีความสำคัญและเป็นหนึ่งในแปดกลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่กำหนดให้ผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องเรียนรู้ นั้นเป็นกลุ่มสาระที่ช่วยพัฒนาให้ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีจินตนาการทางศิลปะ ชื่นชมความงาม มีสุนทรียภาพ ความมีคุณค่า ซึ่งมีผลต่อคุณภาพชีวิตมนุษย์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะมุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ มีทักษะวิธีการทางศิลปะ เกิดความซาบซึ้งในคุณค่าของศิลปะ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงออกอย่างอิสระในศิลปะแขนง ต่าง ๆ

การรวมศิลปะ (Art) รวมเข้าไปใน STEM Education เป็น STEAM จึงเป็นแนวทางการศึกษา ที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม ศิลปะและคณิตศาสตร์ เพื่อจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดทักษะการสืบเสาะหาความรู้ ทักษะการอภิปรายถกเถียง และทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือนักเรียนที่มีทักษะการคิด มีส่วนร่วมในประสบการณ์การเรียนรู้ ตลอดจนการแก้ปัญหา การทำงานร่วมกัน และการใช้กระบวนการคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในนักประดิษฐ์สร้างสรรค์นวัตกรรม นักการศึกษา ผู้นำและผู้เรียนในศตวรรษ ที่ 21

อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนรู้ตามแนวทาง STEM และ STEAM ควรมีลักษณะ  5  ประการได้แก่ 1) เป็นการสอนที่เน้นการบูรณาการ 2) ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาวิชานั้นกับชีวิตประจำวันและการทำอาชีพ  3) เน้นการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21  4) ท้าทายความคิดของนักเรียน  และ 5) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น และความเข้าใจที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่บูรณาการอย่างครอบคลุม ผู้เขียนเชื่อว่าการจัดการเรียนรู้แบบ STEAM  นั้นเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนรักและเห็นคุณค่าของการเรียนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ ศิลปะ และคณิตศาสตร์  และเห็นว่าวิชาเหล่านั้นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถนำมาใช้ได้ทุกวัน ตัว A (Art) ที่เพิ่มมาจาก STEM เป็น STEAM นั้น จะทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาการ และความสมบูรณ์ ด้านอารมณ์ และจิตใจ เพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นฐานของความเป็นมนุษย์คือ การเป็นคนดี ชื่นชมความงาม และมีจิตใจที่เอื้ออาทร มีสุนทรียศิลป์ 

-จัดการเรียนรู้แบบ  STEM แล้ว อย่าลืมความงามของความเป็นมนุษย์ เพิ่มตัว A (Art) ให้กับผู้เรียนได้บูรณาการการเรียนรู้ เพื่อให้เขาเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วยนะครับ-

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เสียงก้องกังวาน ในห้วงฤทัย

"ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง"

เส้นทางสายผ้าเหลือง