จดหมายจากบางกอก

"กรุงเทพมหานคร" เมืองฟ้าอมรในความรู้สึกของใครหลาย ๆ คน สภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยตึกสูง ๆ ใหญ่ ๆ บ้านหลังโต ๆ บนถนนเต็มไปด้วยยวดยานพาหนะทั้งรถยนต์ รถโดยสารประจำทาง รถรับจ้าง จักรยานยนต์ ที่ผู้คนใช้สัญจรไปมา บ่งบอกถึงความหนาแน่นของประชากรในเมืองนี้ได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังเป็นเมืองหลวงของประเทศที่เป็นศูนย์กลางความเจริญหลาย ๆ ด้าน ทั้งธุรกิจ การค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้า การบริหารราชการแผ่นดิน การคมนาคม โรงงานอุตสาหกรรม การศึกษา หรืออาชีพอื่น ๆ ทั่วไป ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่าต่างจังหวัดรวมทั้งประเทศใกล้เคียง

ผู้คนต่างวาดฝันจะเข้ามาใช้ชีวิตให้ได้สักครั้ง ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศที่มีพื้นถิ่นทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน หรือภูมิภาคใกล้เคียงอย่างภาคกลาง หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เมียนม่าร์ กัมพูชา สปป.ลาว ก็ล้วนแต่อพยพเข้ามาอาศัยไม่ว่าจะทำงาน เที่ยวพักผ่อน หรือเล่าเรียนหนังสือ

เช่น "การศึกษา" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ ที่ในเมืองกรุงมีระบบการเรียนการสอนที่มีความพร้อม ทั้งทางด้านบุคลากร ครู อาจารย์ ผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ มีความทันสมัยของสถานที่ สื่อการเรียน มีการสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย มีให้เลือกทั้งสายวิชาการ สายอาชีพ และสายกีฬา ที่ความเจริญมากกว่าโรงเรียนบ้านนอกไม่รู้กี่เท่าเป็นกี่เท่า

ครอบครัวแถวต่างจังหวัดที่พอมีกำลังทรัพย์ หากลูกหลานจบระดับการศึกษาใดการศึกษาหนึ่ง ก็พร้อมที่จะเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย บางคนอาจจะมาอาศัยกับญาติพี่น้องที่มีแหล่งพักพิงอยู่ที่นี่ บางคนที่พอมีสตังค์ก็เช่าบ้าน เช่าห้องพัก คนมีเงินน้อยก็เป็นเด็กวัด ทำงานแทนค่าอยู่ จะเป็นการกวาดลานวัด ซักจีวร ทำความสะอาดกุฏิ โรงฉัน ล้างบาตร ดูแลศาสนสถานในวัด ก็ตามแต่พระท่านจะเรียกใช้ ถ้าไม่เลือกกิน ก็กินข้าวก้นบาตรพระ อิ่มเหมือนซื้อแถมประหยัดไปได้อีกหลายบาทเลยทีเดียว

การเข้ามาเรียนหรือสมัครเรียนมีด้วยกันหลากหลายวิธีแล้วแต่ความสามารถ อาจจะมาด้วยการสอบเข้าซึ่งต้องอ่านหนังสือเตรียมอย่างจงหนัก หรือจะสมัครตรงที่ใช้ผลการเรียนเป็นตั๋วเบิกทางยื่นก็ได้ แล้วแต่วิธีการของแต่ละคน...

เพราะค่านิยมที่เล่ากันต่อ ๆ มาว่าหากใครจบจากกรุงเทพฯ โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไหนก็ได้ ถือว่ามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีหน้ามีตาในสังคม ใคร ๆ ก็ยกย่อง ไม่ดูถูกดูแคลน คนที่ตั้งใจเรียนก็ดีไป นำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิด

ส่วนคนที่ไม่ตั้งใจเรียน พอรู้ว่าครอบครัวมีเงินบ้างนิดหน่อยก็รบเร้าไปให้จนได้ แรก ๆ ก็ตั้งใจเรียนดี ไม่ทำให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อน แต่พอไปก็ไม่เท่าไหร่ กลับไม่สนใจในสิ่งที่ครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน หลงระเริงไปกับแสงสีในเมืองกรุงใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือย เที่ยวเตร็ดเตร่ ทั้งเทค ทั้งบาร์ หรือคาเฟ่ บางคนถึงขั้นติดสุรา ติดผู้หญิงก็มี สิ้นเดือนก็เขียนจดหมายมาขอเงินทางบ้านทีหนึ่ง อ้างค่าใช้จ่ายสารพัด บางเดือนหนักเข้าสองครั้งก็มี โดยอ้างเหตุผลที่ใหญ่ขึ้น หากไม่จ่าย เขาจะไล่ออก ไม่ให้เรียน พออ้างแบบนี้ทางบ้านก็ต้องวิ่งวุ่นหาเงินส่ง ทั้งค่าเทอม ค่าอยู่ ค่ากิน บางครอบครัวถึงกับต้องขายควายบ้าง นำโฉนดที่นาที่สวนไปจำนองบ้าง หมดเงินไปหลายบาท ผ่อนทั้งเงินต้น เงินดอกเบี้ย ถ้าไม่จ่ายเขาก็จะยึดที่ยึดควาย

หากเรียนจบก็ดีไป ยังพอมีอะไรดีบ้าง มีโอกาสที่จะได้อะไรคืนมาอยู่ แต่ถ้าไม่จบ กลับมาอยู่บ้าน เงินก็เสียเปล่า แถมยังอับอายขายขี้หน้าเป็นที่ติฉินนินทาของชาวบ้านอีก

ส่วนการทำงานในเมืองบางกอก คนต่างจังหวัดที่อพยพเข้ามาส่วนใหญ่ก็จะเข้ามารับจ้างเป็นแรงงาน เพราะไม่มีความรู้ที่ถึงขั้นเป็นหัวหน้าใครเขา ด้วยการศึกษาน้อย บางคนไม่ได้เรียนหรือบางคนเรียนก็แค่จบระดับประถม ป.4,ป.6 จบมาก็ทำนา เป็นเกษตรกร อยู่กับสวนกับไร่ อีกทั้งฐานะทางบ้านก็ยากจน จึงไม่เรียนต่อ ความรู้ก็พออ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็นแค่นั้น...

ดังนั้นผู้คนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วจะมาทำงานในโรงงาน ห้างสรรพสินค้า ก่อสร้าง ขนส่งสินค้า หรือกระทั้งรับจ้างเข็นผักในตลาด รายได้บางงานอาจจะไม่มากมายนัก แต่ก็ยังดีกว่าทำนา ทำสวน ทำไร่ อยู่บ้านนอก ที่ผลผลิตราคาถูก บางปีก็แห้งแล้ง บางปีน้ำก็ท่วม ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน บางครั้งยังถูกกดราคาจากนายทุนที่เอาเปรียบบีบบังคับที่มารับซื้ออีก

เฉกเช่นเดียวกับเพ็ญ เอื้อง สา ขจร สมรักษ์ หน้อยสม ที่ไม่ต้องการให้ครอบครัวลำบาก จึงชวนกันเข้ามาแสวงโชคในเมืองกรุง จากการบอกเล่าของพี่สมศรี ที่เป็นบุคคลแรก ๆ ของหมู่บ้านมาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองศิวิไลซ์แห่งนี้ เธอเข้ามาเป็นสาวโรงงานผลิตเสื้อผ้ากางเกงสำเร็จรูป มีเงินเดือนส่งไปให้ที่บ้าน โดยที่ตัวเองไม่เดือดร้อน ปีหนึ่งหากสะสมเวลาพักร้อนได้สัก 7 ถึง 8 วัน ก็จะกลับบ้านครั้งหนึ่ง ปัจจุบันพี่สมศรีมีครอบครัวแล้ว มีบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ในกรุงเทพฯ จากการพบรักกับหนุ่มโรงงานด้วยกัน เมื่อความรักสุกงอม อะไรมารั้นไว้ก็ไม่อยู่ ฝนจะตก ฟ้าจะร้อง ก็ไม่มีอะไรเป็นอุปสรรคขัดขวางความรักของทั้งคู่ได้ ฝ่ายชายจึงหอบสินสอดพร้อมทั้งผู้ใหญ่ไปสู่ขอพี่สมศรีถึงเชียงรายเมื่อเดือนพฤษภาคมปีก่อนนี่เอง

หลายวันแล้วที่ทั้ง 6 ชีวิตมาแย่งอากาศคนกรุงเทพหายใจ มาถึงก็อาศัยห้องพักจากการแนะนำของพี่สมศรี เช่า 2 ห้อง กลุ่มผู้หญิง 1 ห้อง กลุ่มผู้ชาย 1 ห้อง เดือนละ 300 บาท ทุกคนต่างก็คิดถึงทางบ้าน โดยเฉพาะเพ็ญที่คิดถึงทั้งอุ้ยมี พี่แสงเดือน มนตรี คิดถึงบ้านที่เก่า ๆ ที่มีสภาพใกล้จะพัง ซึ่งช่วยกันสร้างกับญาติพี่น้อง ตัวบ้านทำจากไม้ไผ่ทั้งหลัง มีเสา 10 ต้น หลังคาทำจากหญ้าคาแห้งที่ทั้งเพ็ญ อุ้ยมี พี่แสงเดือนไปช่วยกันเกี่ยวจากทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน ตากจนแห้ง นำมาสาน แล้วมัดด้วยตอกอย่างหนาแน่น ตัวบ้านยกสูงประมาณ 80 เซนติเมตร มีใต้ถุน ฝาบ้านก็ทำจากไม้ไผ่สีสุกแก่จัดสานทรงสี่เหลี่ยมขนาดสองวา เช่นเดียวกับพื้นบ้านที่ใช้ไม้ไผ่ทั้งลำ ลำใหญ่ ๆ ตีให้แตกออกมาเป็นแผ่นเหมือนไม้กระดาน แผ่นไหนที่มีเสี้ยนก็ใช้มีดเลาะออกกันตำเท้า ปูรอบบ้าน มัดด้วยตอกผูกติดกับไม้ไผ่ที่เป็นฐานให้แน่น ข้างหน้ามีชานโล่ง ๆ รอบบ้าน มีบันไดขึ้น ข้างหน้าจะเป็นที่นั่งเล่น ทำงาน อุ้ยมีชอบมานั่งสานยอที่ตรงนี้ บางทีก็กินข้าว ส่วนอีกด้านหนึ่งจะเป็นครัวไฟ จะมีเตาก้อนเส้าสามทาง มีโอ่งน้ำ มีที่วางกับข้าว รวมทั้งเป็นที่เก็บเครื่องปรุงอาหารต่าง ๆ ทั้งพริก เกลือ หอม กระเทียม ปลาร้า ซึ่งหากแหงนมองข้างบนจากเตา จะพบว่ามีพวกอุปกรณ์หาปลา ทั้งข้อง แซะ ไซ ห้อยอยู่ เนื่องจากอุ้ยมีบอกถึงสาเหตุที่เอาไว้ตรงนั้นว่า เวลานึ่งข้าวหรือทำอาหารควันจะรมไปถึงสิ่งของเหล่านั้นพวกแมลงจะไม่ชอบกลิ่นควัน โดยเฉพาะมอดชอบมากัด อีกทั้งยังทำให้สีของมันสวยเงาขึ้นอีก

ส่วนข้างในมีสองห้องเล็ก ๆ คือห้องอุ้ยมีหนึ่งห้อง ส่วนอีกห้องเป็นของเพ็ญกับพี่แสงเดือนและมนตรีนอนด้วยกัน ซึ่งแต่ละห้องเอาไว้เพียงแค่นอนหลับมีเพียงฟูก หมอน ผ้าห่ม และหีบเก็บเสื้อผ้าเท่านั้น ข้างล่างไม่ไกลนักมีห้องน้ำเล็ก ๆ ที่ทั้งอาบน้ำและเป็นสุขาในที่เดียวกัน ทำจากไม้ไผ่เช่นเดียวกับตัวบ้าน และมียุ้งฉางที่เอาไว้เก็บข้าวก็ทำจากไม้ไผ่ทั้งหลังเช่นกัน

เธอจากบ้านมาครั้งนี้ เธอตั้งใจจะมาทำงานอย่างเต็มที่ จะไม่ให้อุ้ยมี พี่แสงเดือนเสียใจอีกเด็ดขาด เนื่องจากเธอเคยมีบทเรียนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตตามประสาวัยรุ่น ที่ขาดการยั้งคิด เชื่อคนง่าย โดยเธอได้ชอบกับ อัฐ หนุ่มรูปหล่อ ลูกเจ้าของร้านรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในตัวอำเภอ ทั้งคู่พบกันตอนที่เพ็ญนำข้าวเปลือกไปขาย จากนั้นทั้งคู่ก็ติดต่อกันเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนจดหมาย และพบกันเป็นครั้งคราว บ่อยเข้า นานเข้า จนสนิทใจ และก็ได้เสียกัน จนเพ็ญท้อง ทำให้ครอบครัวเสียใจ แบกหน้ากันไปเรียกร้องให้อัฐรับผิดชอบ ครอบครัวของอัฐก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ กล่าวหาว่าเพ็ญไปท้องกับใครก็ไม่รู้ ทุกคนจึงกลับมาที่บ้าน ในตอนนั้นเพ็ญรู้สึกเสียใจและเสียความรู้สึกอย่างมาก ที่ใจง่าย จนทำให้ทุกคนในครอบครัวต้องอับอายคนในหมู่บ้านจึงคิดจะเอาเด็กออก แต่ก็ได้อุ้ยมีและพี่แสงเดือนห้ามเอาไว้ อุ้ยมีบอกว่า "ละอ่อนบ่มีป่อจ่างมัน แม่กับอี่ปี้จะจ่วยมึงเลี้ยง เลี้ยงเอาบุญ ขอหื้อมันเกิดมาบ่หลึกก็ปอ" ซึ่งเด็กคนนั้นก็คือมนตรีนั้นเอง...

"อุ้ย ๆ เปิ่งอยากกินหนม" เสียงเด็กชายมนตรีในวัยเกือบสามขวบเรียกอุ้ยมีในตอนสาย ขณะที่เห็นอุ้ยตาหาบกระบุงกำลังจะผ่านหน้าบ้าน พอเห็นเด็กชายตัวน้อย ๆ พูดเสียงเจื้อยแจ้ว ไม่ค่อยชัด ก็เดินหาบกระบุงเลี้ยวเข้าบ้านอุ้ยมีทันที

สักพักอุ้ยตาแม่ค้ามากประสบการณ์รุ่นดึกวัย 60 ลักษณะสวมเสื้อแขนยาวและผ้าซิ่นสีดำทั้งชุด สวมรองเท้าแตะหูคีบ นำเก้าอี้ไม้ทรงเตี้ยที่เรียกว่า "ก้อม" มานั่งพัก ดื่มน้ำ แล้วบรรจงห่อใบพลูซ้อนกัน 2 ใบ ป้ายด้วยปูนแดงด้านที่ไม่มัน ใส่หมากดิบและหมากแห้งอย่างละ 1 แว่น แกชอบรสฝาดจึงใส่เปลือกสีเสียดด้วย แล้วม้วนใส่ปากโดยที่ไม่ต้องตำให้เสียเวลา เพราะฟันยังแข็งแรงอยู่ เคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อยราวกับได้รับประทานของที่มาจากสวรรค์ จากนั้นเอางอบมาพัดวีคลายร้อน แลเห็นเส้นเกศาที่อดีตมันเคยดกดำ แต่ป่านนี้มันกลับกลายเป็นสีขาวเกือบจะหมดแล้ว หลังจากที่เดินหาบของมาจากบ้านหลายสิบเมตร อุ้ยมีจูงแขนหลานชายตัวน้อย ๆ ลงมา

"วันนี้หาบหยังมาขายพ่อง" อุ้ยมีทักทายอุ้ยตาว่าวันนี้หาบอะไรมาขายบ้างด้วยความสนิทสนม

"มีเมี้ยง หมาก ปลาส้ม ปลาแห้ง เจียงของ จิ้นส้ม จิ้นปิ้ง จิ้นทอด แกงหางหวาย แกงบอน ขนมก็มีข้าวมัน ข้าวต้มถั่วดิน ข้าวต้มกล้วย ข้าวหมี่ ข้าวแต๋น ใค่กิ๋นหยัง ผ่อเอาเต๊อะ" อุ้ยตาบอกว่ามีทั้งอาหารและขนมมากมาย อยากกินอะไรก็เลือกเลย จากนั้นอุ้ยตาก็คุยต่อตามประสาแม่ค้ามากประสบการณ์...

"อี่เพ็ญมันไปไหน บ่หันมันอยู่บ้าน" อุ้ยตาถามว่า เพ็ญไปไหน ไม่อยู่บ้านเหรอ


"มันไปยะก๋านอยู่กรุงเทพฯ กับหมู่อี่เอื้อง อี่สา" อุ้ยมีบอกว่า เพ็ญไปทำงานที่กรุงเทพฯ กับพวกเอื้อง สา

"บ่าตัวน้อยเลาะ มันบ่เอาไปตวยกะ" อุ้ยตาว่าเพ็ญไม่เอามนตรีไปด้วยเหรอ

"เอาไว้บ้านเนี้ย จ่วยกั๋นเลี้ยงกับอี่เดือน" อุ้ยมีบอกว่า ไม่ได้เอาไป ช่วยกันเลี้ยงกับแสงเดือนนี่แหล่ะ

อุ้ยมีได้เมี้ยงหวานกำหนึ่ง 3 บาท ข้าวมันให้มนตรีอีกห่อ 1 บาท 1 ห่อ อุ้ยตาใจดีให้ข้าวต้มมัดอีก จากนั้นอุ้ยตาก็หาบของไปขายยังบ้านอื่นต่อตามวิถีคนค้าคนขาย

ขณะที่อุ้ยมีซื้อเมี้ยงยังไม่ทันได้ขึ้นบ้านก็สะดุ้งเสียงแตร "ปี๊ด ปี๊ด ปี๊ด ปี๊ด" จากมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อยามาฮ่า เบลล์ ซุปเปอร์ 100 สีแดง ของบุรุษไปรษณีย์ หน้าตาท่าทางใจดี รูปร่างอ้วนท้วนสมบูรณ์ สวมหมวกกันน๊อกสีแดง เสื้อแขนยาวสีขาว กางเกงขายาวสีน้ำตาล รองเท้าผ้าใบสีดำ เรียกคนในบ้านอุ้ยมีให้มารับจดหมาย อุ้ยมีเขียนหนังสือไม่เป็น จึงใช้หัวแม่มือปั้มหมึกจากตลับ รับจดหมายซองสีขาวกับโทรเลขซองสีเขียวอย่างละ 1 ฉบับ

อุ้ยมีไม่รอช้า รีบขึ้นบ้านให้แสงเดือนที่เพิ่งเสร็จจากการซักผ้า แกะซองอ่านทั้งโทรเลขและจดหมายความว่า...


กราบเท้าแม่ที่เคารพ

"แม่กับพี่แสงเดือนสบายดีไหม แขนหายดีหรือยัง ไปหาหมอบ้างไหม อ้ายตรีคงจะตัวใหญ่ขึ้น กำลังดื้อกำลังซน ศักดิ์มาเล่นกับน้องทุกวันไหม. ปีหน้าก็เอาไปฝากที่ศูนย์เด็กเล็กหื้อครูไก่ได้แล้ว ส่วนน้องอยู่ทางนี้สบายดี เช่าห้องอยู่ด้วยกัน 2 ห้อง พวกผู้หญิง 1 ห้อง พวกผู้ชาย 1 ห้อง ทุกคนได้งานทำแล้ว พี่สมศรีพาไปส่งหางาน น้องได้งานรับจ้างเฝ้าร้านขายของชำ เขาให้วันละ 80 บาท หยุดทุกวันจันทร์ เข้าร้าน 8 โมงเช้า เลิก 5 โมงเย็น เขาเลี้ยงข้าวกลางวัน ค่าใช้จ่ายที่นี่สูงกว่าบ้านเรา ทั้งค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเสื้อผ้า ผัก ปลา แพง แม้แต่น้ำกินก็ต้องซื้อ ไม่เหมือนบ้านเราถ้าอยากกินผัก กินปลาก็ไปหาเอาตามทุ่งนา ไม่ต้องซื้อ แล้วก็ไม่มีใครว่า ส่วนคนอื่น ๆ สาไปเป็นคนรับใช้อยู่บ้านคนรวยได้เดือนละ 2000 ส่วนเอื้องเป็นสาวโรงงานเย็บผ้าเขาให้เป็นเดือนเยอะอยู่ ส่วนพวกผู้ชาย หน้อยสมทำงานส่งของบริษัทปลากระป๋อง ส่วนสมรักษ์กับขจรเป็นลูกจ้างทำงานก่อสร้างได้วันละ 100 บาท ทุกคนสบายดี เป็นห่วงแต่ทางบ้าน ฝนตกหนักไหม กลัวลมหลวงพัดบ้าน เดือนนี้น้องส่งเงินให้แม่ 500 บาท ทางโทรเลขให้พี่แสงเดือนนั่งรถสองแถวไปรับที่ไปรษณีย์อำเภอนะ แล้วซื้อนมผงที่ตลาดให้อ้ายตรีด้วย และเอาเงินให้ศักดิ์ 20 บาท หากได้รับจดหมายนี้แล้วให้พี่แสงเดือนเขียนจดหมายตอบกลับยังที่อยู่บนซองจดหมายนี้ด้วย..."



รักทุกคนเสมอ

เพ็ญ.


พอแสงเดือนอ่านจดหมายจบ อุ้ยมีก็หยิบจดหมายพับใส่ซองไปเหน็บไว้ตรงฝาบ้าน อุ้ยมีแม้ว่าจะอ่านหนังสือไม่ออกสักตัว แต่ก็เข้าใจในสิ่งที่เพ็ญเล่าให้อ่าน แกสงสารลูกสาวคนเล็กนี้มาก ที่ตัดสินใจไปทำงานหาเงินที่กรุงเทพฯ แม้ว่าเพ็ญจะเก่ง ขยันสักแค่ไหนก็ตาม แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ด้วยความที่เป็นหญิงสาว เคยห้ามหลายครั้ง แต่ก็ต้องยอมปล่อยให้ไป เพราะเพ็ญขอร้อง เพื่อต้องการลบล้างในสิ่งที่เคยกระทำผิดไป

อุ้ยมีพนมมือขึ้นเหนือศีรษะภาวนาอ้างถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในหมู่บ้านทั้งหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ที่อยู่ในวิหารวัดและพ่อเสี้ยวบ้าน ตลอดจนพระพุทธรูปที่อยู่บนหิ้งพระในบ้าน ให้ช่วยคุ้มครองให้เพ็ญอยู่ดีมีสุข ให้ปลอดภัย ไม่โดนใครเขาหลอกอีกเหมือนกับที่ผ่านมา...


"กฤดาการ"

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

เสียงก้องกังวาน ในห้วงฤทัย

"ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง"

เส้นทางสายผ้าเหลือง